การเล่น ของ ยูโรปา ยูนิเวอร์ซาลิส 3

ผู้เล่นเริ่มเกมด้วยการเลือกวันที่ต้องการเริ่มเล่นและประเทศที่ต้องการเล่น เมื่อเข้าสู่เกมแล้ว ผู้เล่นสามารถปรับเปลี่ยนประเทศของตนเองได้ในหลายๆ ทาง ระบอบการปกครองของแต่ละประเทศมีตั้งแต่ระบอบราชาธิปไตย, ระบอบสาธารณรัฐ, ระบอบเทวาธิปไตย ไปจนถึงรัฐบาลเผ่า ผู้เล่นสามารถกำกับสังคมและค่านิยมของประเทศด้วยการปรับแต่ง "แถบเลื่อน" (slider) ในด้านต่างๆ เช่นการค้าเสรี/การค้าผูกขาด และยังสามารถว่าจ้างที่ปรึกษาของรัฐเช่นโวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ท เมื่อเกมดำเนินไป ผู้เล่นจะสามารถเลือก "แนวคิดของชาติ" (national idea) เช่นเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ที่ส่งผลดีต่อประเทศในแบบที่ต่างกันไป

มีกว่า 300 ประเทศให้เลือกเล่นในเกม ตั้งแต่มหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างราชวงศ์หมิง ไปจนถึงมหาอำนาจในภูมิภาคอย่างโบฮีเมียและคาแซน ไปจนถึงประเทศเล็กๆ อย่างมัลดีฟส์ เกมไม่กำหนดเงื่อนไขในการชนะ ดังนั้นผู้เล่นจึงเป็นผู้ที่ตั้งเป้าหมายให้ตนเอง เช่นการยกระดับนครรัฐขนาดเล็กไปเป็นมหาอำนาจระดับโลก แผนที่โลกประกอบไปด้วยจังหวัด (ทางบก) และเขตทะเลรวมกันกว่า 1,700 เขต โดยมีหลายจังหวัดในทวีปอเมริกา, ทวีปแอฟริกาและภูมิภาคโอเชียเนีย ที่ไม่มีเจ้าของ ทำให้สามารถสร้างอาณานิคมในจังหวัดว่างเปล่าเหล่านั้นได้

ระบบเศรษฐกิจในยุคสมัยใหม่ตอนต้น ถูกจำลองผ่านการเก็บภาษีและรายได้จากการผลิตทรัพยากรจากจังหวัดต่างๆ และยังมีระบบการค้า ที่ให้พ่อค้าแข่งขันกันในศูนย์การค้าที่ตั้งอยู่ในเมืองอย่างเวนิซ และลือเบค ประเทศที่เน้นรายได้จากการค้า (อย่างฮอลแลนด์) ก็จะมีความได้เปรียบทางการค้า แต่ถ้าประเทศไหนผลิตเงินตรา หรือพึ่งการทำเหมืองทองมากเกินไป ก็จะได้รับโทษจากภาวะเงินเฟ้อ การลงทุนวิจัยเทคโนโลยีมีความสำคัญในระยะยาว โดยเกมนี้ไม่ได้ใช้แผนผังต้นไม้เทคโนโลยีอย่างเกมซิวิไลเซชัน แต่แบ่งเทคโนโลยีออกเป็นหลายประเภท ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้สามารถสร้างยูนิตทางทหารและสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ได้

ระบบการทูตมีความซับซ้อน โดยผู้เล่นสามารถแต่งงานกับราชวงศ์อื่น, ส่งสาส์นดูหมิ่น, ขอเป็นพันธมิตร, สั่งห้ามทำการค้า และอื่นๆ ซึ่งการตัดสินใจทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผู้เล่นสามารถควบคุมประเทศอื่นได้อย่างสันติผ่านการเป็นผู้นำรัฐร่วมประมุข และประเทศราช ผู้เล่นสามารถมีส่วนร่วมในสถาบันระหว่างประเทศในเวลานั้นอย่างจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และสภาปกครองโรมันในรัฐสันตะปาปา ทุกประเทศมีวัฒนธรรมและศาสนาเป็นของตนเอง ซึ่งอาจเป็นที่มาของมิตรภาพหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศได้

ผู้เล่นสามารถสร้างกองทัพบก, กองทัพเรือ หรือเกณฑ์ทหารรับจ้าง ผู้เล่นไม่มีส่วนในการควบคุมการรบโดยตรง แต่เกมจะจำลองการรบให้ผู้เล่นดูในลักษณะนามธรรม (ต่างจากเกมในชุดโททัลวอร์) ผู้เล่นสามารถเกณฑ์นายพล และนายพลเรือผ่านระบบประเพณีทางทหาร ประเทศแต่ละประเทศมีระบบ "ชื่อเสีย" (infamy) ที่จะเพิ่มขึ้นถ้าประเทศนั้นไปยึดดินแดนมาจากประเทศอื่น โดยไม่มีสิทธิ์ชอบธรรม

เกมนี้เต็มไปด้วยรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ โดยผู้เล่นสามารถเริ่มเล่น "แกรนด์แคมเปญ" (Grand Campaign) ที่เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1453 (ตัวเกมดั้งเดิม) หรือ ค.ศ. 1399 (ถ้ามีภาคเสริมอิน โนมิเน) หรือจะเลือกวัน/เดือน/ปี ใดก็ได้ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส (หรือ ค.ศ. 1821 ถ้ามีภาคเสริมนโปเลียนส์ แอมบิชัน) เกมยังมีวันที่ ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในประวัติศาสตร์ให้เลือกได้อีกด้วย ผู้เล่นจึงสามารถเลือกเล่นในสงครามสันนิบาตคัมไบร เป็นต้น ตัวเกมนั้นไม่ได้เป็นไปตามประวัติศาสตร์เสมอไป อาจจะมีกรณีเช่นโปรตุเกสสามารถสร้างอาณานิคมในทวีปอเมริกาเหนือได้ หรือเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนียไม่ล่มสลายเป็นต้น

เกมนี้สามารถเล่นได้ทั้งแบบเล่นคนเดียวและเล่นหลายคน โดยในแบบเล่นหลายคน ผู้เล่นจะสามารถเลือกประเทศต่างๆ ได้ ในขณะที่ประเทศที่ผู้เล่นมนุษย์ไม่ได้เลือกจะถูกควบคุมโดย AI

การตั้งค่าเกมส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบข้อความธรรมดา ทำให้ผู้เล่นสามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลเกี่ยวกับแผนที่, เหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์ หรือข้อมูลอื่นๆ ได้ง่าย และยังมีส่วนแก้ไขหรือม็อด (mod) ที่ผู้เล่นสามารถติดตั้งลงไปในเกม โดยม็อดสามารถเปลี่ยนลักษณะของเกม, เพิ่มความสมจริงทางประวัติศาสตร์, เพิ่มองค์ประกอบแฟนตาซี หรือปรับเปลี่ยนกลไกของเกม เป็นต้น

แหล่งที่มา

WikiPedia: ยูโรปา ยูนิเวอร์ซาลิส 3 http://www.cheatplaza.com/pc/europa-universalis-3/ http://www.europauniversalis3.com/ http://pc.ign.com/articles/785/785511p1.html http://www.insidemacgames.com/news/story.php?Artic... http://www.insidemacgames.com/news/story.php?Artic... http://www.insidemacgames.com/news/story.php?Artic... http://www.insidemacgames.com/news/story.php?Artic... http://www.insidemacgames.com/news/story.php?Artic... http://forum.paradoxplaza.com/forum/showthread.php... http://www.paradoxplaza.com/press/2010/9/europa-un...